เจ็บมาเยอะ! กับ 4 ผลงานที่ล้มเหลวของ Google

Google คือเว็บไซต์ผู้ให้บริการ Search Engine, Map, Email, Chrome และอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จจนมีรายได้มหาศาล มองดูผิวเผินก็เหมือนว่าพวกเขาจะทำอะไรก็สำเร็จไปซะทุกอย่าง…แต่คุณรู้หรือไม่ว่า กว่าจะมาเป็น Google ในปัจจุบัน พวกเขาก็ต้องเผชิญกับความล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วนเหมือนกัน โดยวันนี้เราจะมากล่าวถึงผลงานบางส่วนที่ Google ได้เคยรังสรรค์เอาไว้ แต่ผลตอบรับไม่เป็นดั่งที่คาดและต้องล้มเลิกผลงานนั้นไปในเวลาต่อมา

1.Google Translate Toolkit

Google Translate Toolkit คือ เครื่องมือสำหรับเหล่านักแปลที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2009 โดยผู้ใช้จะสามารถเข้าไปแก้ไขคำแปลให้เหมาะสมกับบริบทได้ตามความต้องการ อีกทั้งยังสามารถเก็บรวบรวมคำแปลที่เป็นไปได้ของแต่ละคำศัพท์ เพื่อเอาไว้ใช้กับงานแปลอื่น ๆ ในอนาคตได้อีกด้วย

ในช่วงปีหลัง ๆ ได้มีเครื่องมือที่ดีมากกว่า Google Translate Toolkit ออกมามากมาย ทำให้ผู้ใช้งานส่วนนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนสุดท้ายพวกเขา (Google) ก็ตัดสินใจปิดตัวมันลงในปี 2019

2.Google +

Google+ (กูเกิลพลัส) คือ ส่วนชุมชนออนไลน์ที่เริ่มเปิดให้บริการในปี 2011 ซึ่งในเวลานั้นเว็บที่มีจุดประสงค์คล้ายกันอย่าง Facebook หรือ Twitter ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว

หลายปีที่ผ่านมา ทาง Google ก็ได้พยายามโฆษณาถึงส่วนนี้มาโดยตลอด แต่มันก็ดึงดูดผู้คนให้หันมาใช้บริการได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และด้วยความนิยมที่ต่ำมากเช่นนี้ จึงไม่แปลกใจที่จะทำให้พวกเขาตัดสินใจปิดให้บริการลงในปี 2019  แต่เป็นการปิดให้บริการสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปเท่านั้น หากเป็นผู้ใช้งาน G Suite จะยังสามารถใช้งานส่วนนี้ต่อไปได้ตามความต้องการ

3.Knol

Knol คือ ส่วนสารานุกรมออนไลน์ที่เปิดให้บริการในปี 2008 โดยภายในนั้นจะมีเนื้อหาความรู้จากหลากหลายด้าน เช่น วิทยาศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ มีผู้ใช้บางคนตั้งข้อสงสัยว่านี่อาจจะเป็นเว็บที่ทำขึ้นมาเพื่อแข่งกับ Wikipedia หรือเว็บสารานุกรมออนไลน์ไม่แสวงหาผลกำไรที่ Google มักจะไปดึงข้อมูลมาใช้เป็นประจำ

และก็อาจจะเป็นเพราะว่า Google ไม่สามารถสู้ Wikipedia ที่มีเนื้อหาความรู้มากกว่าได้ พวกเขาจึงตัดสินใจปิดส่วนนี้ลงในปี 2012 และหันกลับไปพึ่งพาข้อมูลจาก Wikipedia เหมือนเดิม

4.YouTube Gaming

YouTube Gaming คือ เว็บและแอปพลิเคชั่นเพื่อเหล่าผู้ใช้สายเกม เพราะจะรวบรวมมาแต่คลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับเกมเท่านั้น เปิดตัวเมื่อปี 2015 โดยตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อแข่งกับ Twitch แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้น

หลังจากพยายามนานกว่า 4 ปีแต่ไม่เป็นผล พวกเขาก็ตัดสินใจปิดตัวแอป YouTube Gaming ลงในปี 2019 และนำส่วนนี้ไปรวมเข้ากับแพลตฟอร์มหลักแทน

แต่ถึงจะล้มเหลวมามากเพียงใด บริษัท Google ก็ไม่เคยคิดที่จะยอมแพ้ต่อการริเริ่มสิ่งใหม่ สังเกตได้จากการที่พวกเขาก็ยังคงเปิดตัวผลงานใหม่ ๆ ออกมาให้เหล่าผู้คนบนอินเทอร์เน็ตได้ลองสัมผัสอยู่เป็นระยะ ในส่วนของผลงานล่าสุดอย่าง Stadia พวกเราก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้ว ผลงานจะมีกระแสตอบรับออกมาในทิศทางไหนกัน?