COUNTER-STRIKE เกม PC ที่ไม่มีวันตาย

หากจะให้กล่าวถึงเกม PC ที่เป็นชื่อฮิตติดหูและครองใจคนไทยมาอย่างยาวนาน ชื่อของ “Counter-Strike” น่าจะต้องเป็นชื่อที่ถูกกล่าวถึงในลำดับแรก ๆ ด้วยเพราะจากความรู้สึกที่เหมือนได้เข้าไปอยู่ในเกมจริง ๆ ได้รู้สึกถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ก่อการร้ายและตำรวจ และการได้เล่นได้วางแผนร่วมกันเป็นทีมกับเพื่อนหรือคนรู้จัก ก็น่าจะทำให้ใครหลาย ๆ คนหลงรักเกมนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

กว่าจะเป็นเกม Counter-Strike จุดเริ่มต้นของความน่าหลงใหล

ก่อนที่เกม Counter-Strike จะถือกำเนิดออกมาเป็นชื่อเกมจริง ๆ นั้น เดิมมันถูกใส่เป็นเพียงตัวเสริมของเกม Half-Life เกมยิงมนุษย์ต่างดาวยอดนิยมที่ออกมาวางจำหน่ายก่อนปีคริสต์ศักราช 2000 โดยผู้ที่ร่วมกันคิดเกม Counter-Strike คือ Minh Le และ Jess Cliffe ที่ออกแบบเกมมาให้เป็นการวางกลยุทธ์สำหรับ 2 ฝ่าย คือฝ่ายก่อการร้ายและฝ่ายตำรวจ ลักษณะการเล่นจะแบ่งกันเป็นทีม 2 ฝ่าย และหาทางทำภารกิจของตนเองให้สำเร็จตามเป้าหมาย เช่น ตำรวจจะต้องช่วยตัวประกันออกมาให้ได้ทุกคน หรือการพิชิตฝ่ายตรงข้ามให้หมด หรือผู้ก่อการร้ายจะต้องวางระเบิดเพื่อให้ตำรวจกู้ไม่ได้ เป็นต้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของเกมยอดนิยม เพราะในปี 2000 บริษัท Valve Corporation จำกัด ก็ได้ตัดสินใจให้ผู้ร่วมกันคิดเกมทั้ง 2 คนเขียน Counter-Strike ออกมาให้เป็นเกม 1 เกมไปเลย โดยไม่ต้องไปใส่เป็นตัวเสริมของเกม Half-Life อีกต่อไป ทำให้ Counter-Strike มีชื่อวางจำหน่ายเป็นชื่อเกมครั้งแรกในปี 2000 พอดี และนี่คือจุดเริ่มต้นของเกมสุดคลาสสิคของโลกใบนี้

หลากหลายเหตุผลที่คนยังไม่เลิกเปลี่ยนใจไปจาก Counter-Strike

แม้ Counter-Strike ในภาคดั้งเดิมปี 2000 จะถูกดัดแปลงและออกจำหน่ายมาในรูปแบบของภาคใหม่ ๆ คือ Counter-Strike: Condition Zero และ Counter-Strike: Source ในปี 2004 แต่ก็ไม่อาจไปยึดพื้นที่หัวใจของผู้คลั่งไคล้เกมได้เท่ากับตัวเกมในภาคปี 2000 เพราะความเคยชินกับฉากหรือแผนที่ในเกมและความรู้สึกถึงรายละเอียดที่ไม่มากจนเกินพอดีทำให้ผู้คนยังคงลงคะแนนเสียงว่า Counter-Strike ในปี 2000 คือภาคที่ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตามในปี 2012 ผู้พัฒนาเกมได้เล็งเห็นถึงช่องทางการเรียกกระแสของเกมที่มากขึ้น จึงได้ออก Counter-Strike: Global Offensive ขึ้น แม้การให้ผู้เล่นได้วาดฉากการเล่นส่งเข้าไปในเกม หากฉากใดที่เป็นที่นิยมก็จะได้รับการนำเข้าไปในเกมอย่างถาวร เพื่อเป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้เล่นจะยังคงอยู่ไม่ต่างจากในภาคก่อน แต่สิ่งเติมเต็มที่ Counter-Strike ไม่เคยมีมาก่อนก็คือการมี Skin บนอาวุธ หมายถึงอาวุธต่าง ๆ จะมีสีสันสวยงามและมีลวดลายมากขึ้น แม้การมีลวดลายจะไม่ได้ทำให้ศักยภาพการใช้อาวุธเพิ่มขึ้น แต่ก็ทำให้ตัวเกมเป็นที่สนใจ ได้รับรายได้มากขึ้นจากการพยายามซื้อขายอาวุธกันบนเกมกัน นอกจากนี้ผู้เล่นที่อยากได้อาวุธที่มีสีสันหายากก็ไปดำเนินการจ่ายเงินกันนอกเกม และมาแลกเปลี่ยนอาวุธกันในเกม ไม่ต่างจากเกม PC อื่น ๆ ที่เป็นที่นิยม

อาจจะมีหลายเกมที่เข้ามาเป็นกระแสในแต่ละช่วงแล้วก็หายไปเพราะหมดความนิยม แต่กับ Counter-Strike นั้นกลับยึดครองพื้นที่หัวใจของผู้คนมาได้เป็นเวลา 20 ปี ด้วยเหตุผลที่ทำให้คนเสมือนได้เข้าถึงการต่อสู้กับภัยก่อการร้าย ได้ทำงานเป็นทีม วางแผนการเล่น และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่สำคัญบางคนที่เล่นเกมเพื่อหารายได้เป็นอาชีพก็สร้างฉากการเล่นเข้าไปในเกมหรือการจำหน่ายอาวุธที่มีลวดลายสีสัน ที่ทำเงินได้สูงสุดถึงหลักล้านบาทเลยทีเดียว